นาแห้วสุพรรณบุรี

 

แห้วสุพรรณ

 

แห้วดีศรีประจันต์ สุพรรณบุรี
ถ้ามาสุพรรณ สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาด คือการลองลิ้มชิม แห้ว ว่ากันว่าแห้วสุพรรณ โดยเฉพาะแห้วอำเภอศรีประจันต์อร่อยที่สุด นาแห้วที่ศรีประจันต์ เป็นแห้วจีน (Water chestnut) ซึ่งเจริญเติบโตได้ดีในดินชุดสระบุรีไฮเฟต ซึ่งดินชุดนี้มีลักษณะพิเศษคือ จะมีลักษณะคล้ายชั้นดินดาน ลึกประมาณ 50-70 เซนติเมตร ซึ่งเป็นประโยชน์ในการปลูกแห้วจีนเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อแห้วจีนลงหัว หัวของแห้วจีนจะไปกองหรือแผ่ขยายในบริเวณชั้นดินดาน ทำให้สะดวกในการเก็บเกี่ยว

 

 

 

 

เทศกาลอาหารจานแห้ว สมหวังที่วังยาง ครั้งที่ 3

 

ขอเชิญเที่ยว ชิม ช๊อบ ใช้ ในงาน

เทศกาลอาหารจานแห้ว
สมหวังที่วังยาง ครั้งที่ 3
ระหว่างวันที่ 1-4 กันยายน 2565 นี้

ณ บริเวณปั้มน้ำมันบางจากวังยาง(ถาวรสุพรรณ) ริมถนน 340 (สุพรรณบุรี - ชัยนาท) ช่วงหลัก กม.ที่ 76 ขาขึ้นชัยนาท ต.วังยาง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ในงานพบกับกิจกรรมมากมายเช่น
-การออกร้านอาหารจากแห้ว
-สินค้าแปรรูปจากแห้ว
-สินค้าOTOP ของดีศรีประจันต์ สุพรรณบุรี
-การแข่งขันปอกแห้ว และกินแห้ว
-การประกวดแห้วหัวใหญ่พันธ์ดี
-การประกวดเทพีสมหวัง(สาว2)
-การประกวดกลองยาว
-การประกวดเต้นบาสโลปเพื่อสุขภาพ
-การแสดงดนตรี และกิจกรรมอื่นๆอีกมากมาย
ร่วมจัดงานโดย เทศบาลตำบลวังยางและองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี

ค่าพิกัด GPS 14.546936, 100.132159

 

 

 

 

แห้ว

ตลอดสองข้างทางริมถนนสาย 340 (สุพรรณ-ชัยนาท) ช่วงตำบลวังยาง ตำบลมดแดง ก่อนถึงตัวอำเภอศรีประจันต์ มีร้านขายของฝากเมืองสุพรรณ แทบทุกร้านจะมีผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแห้ว แห้วดิบ แห้วสดรสอร่อย หรือแห้วกระป๋อง ให้ซื้อกินหรือเป็นของฝากราคาก็ไม่แพง และถ้าโชคดีก็อาจจะได้ชมวิธีการทำนาแห้ว และการเก็บหัวแห้ว ซึ่งหากได้ชมแล้วจะต้องบอกว่า ไม่ง่ายเลยกว่าจะได้เป็นแห้วสีขาวนวล เนื้อกรอบนุ่มรสหวานอร่อย

 

แห้วดีมีสรรพคุณ
แห้วเป็นพืชสมุนไพรตระกูลกก มีฤทธิ์เย็น รสหวาน อุดมไปด้วยสารอาหารประเภทต่างๆ มีวิตามินและเกลือแร่ ช่วยต่อต้านแบคทีเรีย ด้วยสาร puchin แก้คออักเสบ ละลายเสมหะ บำรุงปอด บำรุงธาตุและกระเพาะ แก้เบาหวาน ลดความดันโลหิต ขับของเสีย ขับปัสสาวะ นอกจากนี้แห้วยังช่วยดับกระหายคลายร้อน และขับน้ำนมได้อย่างดี แห้วยังมีวิตามิน B และ E สูง จึงป้องกันโรคเหน็บชา และปากนกกระจอกได้ อีกทั้งยังช่วยบำรุงผิวหนังให้มีสุขภาพดี

 

ฤดูปลูก
แห้วเป็นพืชที่ขึ้นในน้ำ ขึ้นได้ดีในแหล่งที่มีการให้น้ำได้ตลอดปี ชอบอากาศอบอุ่นเกือบตลอดปี ในการงอก ต้องการอุณหภูมิในดิน ประมาณ 14-15.5 องศาเซลเซียส ฤดูปลูกที่เหมาะสมจึงควรเป็นต้นฤดูฝน ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน เพื่อให้มีน้ำเพียงพอ เริ่มเพาะเดือนมีนาคม-เมษายน ย้ายลงปลูกในแปลงใหญ่ได้ในราวเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ฤดูเดียวกับการทำนา แต่ปัจจุบันมีระบบชลประทาน เกษตรกรจะปลูกสลับกับการทำนาอย่างละ 6 เดือน

 

ผลผลิต
นาแห้วมีผลผลิตไร่ละ 3-4 เกวียน (3000-4000 กิโล หรือ 3-4 ตัน) ราคาปัจจุบันเกวียนละประมาณ 2-3 หมื่นกว่าบาท นับว่าราคาน่าลงทุน แต่ต้นทุนก็สูงเช่นกัน
แห้วสดราคาประมาณ 30-50 บาทต่อกิโลกรัม แห้วขาวปอกราคาประมาณ 50-60 บาทต่อกิโลกรัม *** (ราคาอาจจะขึ้นลงได้ตลอดเวลา)
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 081-9445342 (คุณ สุรพล)
facebook/Rongngan

 

ประวัติความเป็นมาของแห้วสุพรรณ
ไม่ทราบแน่ชัดว่า มีการปลูกแห้วในประเทศไทยเมื่อใด แต่มีผู้นำแห้วมาปลูกที่จังหวัดเชียงรายนานมาแล้ว และได้นำมาปลูกในเขต อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2493 ปรากฏว่าปลูกได้ผลดี ทำกำไรมากมายให้แก่ผู้ปลูก จึงมีการปลูกแห้วเพิ่มขึ้น ขยายเนื้อที่ออกไป ทำให้ราคาลดลงเรื่อยๆ การขยายเนื้อที่ปลูกจึงไม่กว้างขวางออกไปมากนัก แต่ก็ยังมีผู้นิยมปลูกแห้วกันอยู่พอสมควร ปัจจุบันมีการปลูกแห้วมากแถวสองฝั่งแม่น้ำท่าจีน เขตอำเภอเมือง อำเภอศรีประจันต์ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

 

แห้วจีนหรือแห้วทรงกระเทียม (อังกฤษ: Ground chesnut; ชื่อวิทยาศาสตร์: Eleocharis dulcis) เป็นพืชวงศ์ กกและเป็นพืชหลายฤดู เป็นพืชกึ่งพืชน้ำ มีเหง้าใต้ดิน เหง้าสั้นมีไหลยาว หัวกลมแบนเกิดในส่วนปลายไหล สีน้ำตาลหรือสีดำ ขึ้นเป็นกอ ลำต้นแข็งแรง ลำต้นตรง กลม ใบย่อส่วนเหลือเพียงโคนกาบหุ้มไม่มีแผ่นใบ สีน้ำตาลแดงหรือสีม่วง ยาว 15-20 เซนติเมตร ช่อดอกเดี่ยวเป็นช่อเชิงลด ดอกช่อยาว 1.5 -3.0 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นแบบ spike ยาว 2-5 เซนติเมตร มีริ้วประดับเป็นเยื่อบางๆ กลีบดอกคล้ายเส้นด้ายสีขาวหรือสีน้ำตาล ผลเป็นผลแห้งเมล็ดล่อน สีเหลืองมันจนถึงสีน้ำตาล ขยายพันธุ์ด้วยไหล หน่อ และเมล็ด ชอบที่ชื้นแฉะ พบในพื้นที่ลุ่มที่รกร้าง หนองน้ำและนาข้าว กระจายพันธุ์ทั่วประเทศไทย

กระจายพันธุ์ในเขตร้อนของโลกเก่า ตั้งแต่แอฟริกาตะวันตก มาดากัสการ์ อินเดีย จีน ญี่ปุ่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลียและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก มีทั้งพันธุ์ป่าและพันธุ์ปลูก โดยพันธุ์ป่าหัวขนาดเล็ก ค่อนข้างดำ พันธุ์ปลูกหัวใหญ่สีออกม่วงหรือน้ำตาล แห้วใช้ปรุงอาหารได้หลายอย่าง ทั้งในจีน อินโดจีน ไทยและประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำมารับประทานเป็นของหวาน หัวขนาดใหญ่นิยมรับประทานสด หัวขนาดเล็กใช้ผลิตแป้ง ในฟิลิปปินส์ใช้ทำข้าวเกรียบ ลำต้นใช้สานเสื่อหรือเป็นอาหารสัตว์

แห้วจีนหวานมัน แห้วศรีประจันต์ เมืองสุพรรณ อร่อยที่ซุ๊ดดดดดด

*** มีบางท่านให้ความเห็นเกี่ยวกับ ที่มาของคำว่า "แห้ว" ว่ากันว่ามาจากหนังสือ ชุดสามเกลอ พล,นิกร,กิมหงวน ของ ป.อินทรปาลิต มีตัวละครตัวหนึ่งชื่อนาย "แห้ว โหระพากุล" เป็นคนรับใช้ มีนิสัยทะลึ่งตึงตัง "ทำอะไรไม่เคยสำเร็จ เสียหายอยู่เสมอ" และรายการ “เพชฌฆาตความเครียด” ซึ่งมีบำเพ็ญ ชำนิบรรณการ หรือซูโม่แห้ว เป็นตัวละครในบทตลก ซื่อ ๆ ทำอะไรก็ผิดพลาด ผิดหวัง แห้ว เลยกลายเป็นคำเรียกติดปากของคนที่มีลักษณะดังกล่าว (มั้ง อิอิ)

" กินแห้วแล้วจะสมหวัง"

 

 

กินแห้วแล้วจะสมหวัง
แห้ว... ชื่อนี้มีความหมาย และความหมายที่แท้จริงตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง ชื่อไม้ล้มลุกมีหัวหลายชนิดหลายสกุลในวงศ์ Cyperaceae ... แต่พวกวัยรุ่นสมัยโบราณ เอามาเรียกแทนอาการอกหักรักคุด จึงทำให้พืชชนิดนี้เป็นที่ไม่นิยมของคนบางกลุ่มที่ติดกับความเชื่อ ของชื่อสิ่งต่างๆ ที่มีความหมายไม่ดี ซึ่งความหมายที่แท้จริงแล้ว ไม่ใช่อย่างที่หลายคนคิดกัน และ แห้ว .. เป็นพืชที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย และที่สำคัญ .. มันอร่อยมาก

 

ค่าพิกัด GPS 14.564973, 100.144799

 

 

 

 

 

สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดสุพรรณบุรี ร้านอาหาร ของกิน จังหวัดสุพรรณบุรี รีสอร์ท โรงแรม ที่พัก จังหวัดสุพรรณบุรี home suphanbiz

 

Last modified: 02/09/65

จังหวัดสุพรรณบุรี Suphanburi
สถานที่ท่องเที่ยว | ที่พัก-รีสอร์ท | ร้านอาหาร แผนที่ | การเดินทาง | อื่นๆ | กิจกรรม

 

 

หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย (บ้านควาย) Buffalo Village พุทธเทวสถาน สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี