
บาตรใบนี้เป็นบาตรสังคโลก ใบเดียวในประเทศไทย
เจ้าของบาตรแต่แรกคือหลวงพ่อเปลื้อง หรือพระเทพวุฒาจารย์ (เปลื้อง
คงฺคสุวณฺโณ)
อดีตเจ้าอาวาสวัดสุวรรณภูมิ และอดีตเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี
บาตรใบนี้ได้ถูกพรากจากวัดไปตั้งแต่ปี 2505
แล้วก็ได้รับการซื้อคืนกลับมาภายหลัง

หลวงพ่อเปลื้อง
... (เปลื้อง บุญซิววงศ์ )
หรือพระเทพวุฒาจารย์ (เปลื้อง คงฺคสุวณฺโณ)
ท่านมีชีวิตอยู่ระหว่าง 4
พฤษภาคม 2426 24 กรกฎาคม 2527 อายุ 101 ปี
พรรษา 64
ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี 21 ปี
ท่านได้สร้างพิพิธภัณฑ์เมื่อ พ.ศ.2514
เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแด่สมเด็จพระสังฆราช ลำดับที่
17 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
คือสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริมหาเถระ)
ชาติภูมิอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
เมื่อสร้างเสร็จก็ตั้งชื่อพิพิธภัณฑ์นี้ว่า
พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริมหาเถระ) องค์ที่
17 (สมเด็จป๋า)
สิ้นค่าก่อสร้าง 1,200,000 บาท
ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีโบราณวัตถุรวมประมาณ 4,000
ชิ้น
หนึ่งในสมบัติของพิพิธภัณฑ์นั้นก็คือบาตรสังคโลก
บาตรนี้ถูกพรากไปจากสุพรรณ
และจากวัดสุวรรณภูมิได้อย่างไร
ครั้งนั้นยังไม่มีพิพิธภัณฑ์หลังนี้
และบาตรนั้นก็ยังอยู่กับกุฏิหลวงปู่
....ผมไปรับราชการเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ในปี พ.ศ.2500
ถึง พ.ศ.2509
ได้รู้จักกับคุณบรรหารแต่เพียงผิวเผิน
เพราะขณะนั้นท่านเข้าไปทำงานของท่านอยู่ทางกรุงเทพฯ แล้ว
ในปี พ.ศ.2507
เมื่อผมทำการปราบปรามโจรผู้ร้ายและการพนันในจังหวัดสุพรรณบุรีราบคาบแล้ว
ผมก็พัฒนาบ้านเมือง ตามคติธรรมของนักปกครองผู้ สร้างเมือง
ไม่ใช่ กินเมือง หลังจากผมทำถนน ทำโรงเรียน
ทำตลาด ทำวัด ฯลฯ แล้ว.........
.....ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งผมประทับใจมาก เรื่อง บาตรสังคโลก
ของวัดสุวรรณภูมิ
เรื่องเดิมมีว่า เมื่อจังหวัด (ก็คือผมนั่นแหละ อวดตัวเสียหน่อย)
ร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรม สร้างศาลจังหวัดสุพรรณบุรีขึ้นใหม่
เป็นแห่งแรกที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมาวางศิลาฤกษ์
และ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี มาทำพิธีเปิดศาล
ตอนกลางคืนมีละครของกรมศิลปากรฉลอง เป็นที่เลื่องลือมาก
จนผู้พิพากษาหัวหน้าศาลถูกย้ายเพราะร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัดใกล้ชิดมากเกินไป
กระทรวงยุติธรรมเกรงว่าจะเสียความยุติธรรมในการพิจารณาคดี (ซึ่งผมโกรธมาก)
ถือว่าสบประมาทผม จนผมปฏิญาณว่า
เรื่องของศาลต่อไปจะเกี่ยวข้องช่วยเหลือให้น้อยที่สุด ทั้งๆ
ที่ผมกับหัวหน้าศาลจับมือสัญญากันแล้วก่อนทำงานร่วมกันว่า
กินกันได้ข้าวปลา นกกระทาไม่ให้
คนรักกัน ไม่ขอของรักกัน
ราชการอันเป็นที่รัก จะให้ใครมาขอให้เสียงาน เสียราชการไม่ได้
และผมไม่เคยขอร้องศาลเรื่องใดๆ เลยจนนิดเดียว
ทั้งที่ชอบพอกับผู้พิพากษาทุกคน
.........
ผมถือว่าเป็นความผิดของผมเอง ที่อยากจะอวดของดีเมืองสุพรรณ
จึงไปขอยืมบาตรสังคโลกของหลวงพ่อเปลื้อง (พระราชสุพรรณาภรณ์)
เจ้าอาวาสวัดสุวรรณภูมิ หน้าศาลากลางจังหวัด ซึ่งเป็นของเก่าหาค่ามิได้
เอามาตั้งเป็นบาตรน้ำมนต์ที่อาสน์สงฆ์
ในปะรำพิธีทางพระศาสนาเมื่อวันเปิดศาล
ซ้ำคุยอวด ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ถึงบาตรสังคโลกนี้
อันมีคุณค่าทางโบราณวัตถุมาก ต่อหน้าท่านผู้หญิงของท่านเสียอีกด้วย
.... หลังจากนั้นไม่ถึง ๑ เดือน
ก็มีท่านนายพลกองทัพบกคนหนึ่ง (ซึ่งเป็นชาวสุพรรณ) มาพบหลวงพ่อเปลื้อง
หลวงพ่อให้คนมาเรียกตัวผมไปร่วมพบด้วย ท่านนายพลบอกว่า
ท่านมีความสนใจบาตรสังคโลกของวัดสุวรรณภูมิมาก ต้องการนำไปให้เจ้านาย
ท่านนายพลผู้เป็นทูตเตรียมขันลงหิน (ทองเหลือง)
ทำแบบขันสาครใบใหญ่มาผาติกรรมด้วยแล้ว ๑ ใบ
หลวงพ่อเปลื้องท่านพูดกับท่านนายพลนั้น ต่อหน้าผมว่า
สิ่งของโบราณวัตถุที่วัดนี้ทั้งสิ้นที่ท่านสะสมไว้นั้น
เมื่อท่านมรณะแล้วก็ยกให้เป็นของสงฆ์วัดสุวรรณภูมินี้ทั้งสิ้น
เมื่อท่านนายพลต้องการ ท่านก็ไม่ขัดข้องอะไร
ส่วนผมผู้ว่าราชการจังหวัด ได้แต่ทำตาปริบๆ พูดไม่ออก
ต่อมาเมื่อ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สิ้นบุญแล้ว
เกิดวิกฤตการณ์ถูกริบทรัพย์
ผมจึงร้องเรียนไปยังคณะกรรมการจัดการยึดทรัพย์
ขอคืนบาตรสังคโลกของวัดสุวรรณภูมิใบนี้ ซึ่งโดยสามัญสำนึก
ไม่มีใครจะยอมรับแลกกับขันทองเหลืองใหม่ๆ เป็นแน่นอน
คณะกรรมการฯ เรียกผมไปดูของ ผมเห็นบาตรสังคโลกนี้
ตั้งอยู่ในที่บูชาพระโต๊ะหมู่
ภายในบ้านของ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ที่ถนนประดิพัทธ์ กรุงเทพฯ
ผมก็ชี้ให้คณะกรรมการทุกท่านทราบว่า
บาตรนี้เป็นของวัดสุวรรณภูมิ คณะกรรมการฯ
ท่านให้ผมมาขอหนังสือยืนยันขอคืนจากท่านเจ้าอาวาสเจ้าของบาตร
ถ้ามีหนังสือไปเขารับจะคืนให้ทันที
ผมก็กลับมาหาหลวงพ่อเปลื้อง ขอหนังสือท่าน ผมจะไปเอาบาตรคืนมาให้
หลวงพ่อพูดกับผมว่า เราเป็นพระเป็นเจ้า
พูดให้เขาไปแล้วจะไปกลับคำว่าไม่ได้ ให้ขอคืนมาได้อย่างไร
ผมขนลุก ก้มลงกราบท่าน เลื่อมใสในปฏิปทาของท่านจนสุดใจ
เป็นอันตัดใจไม่คิดถึงบาตรใบนี้อีกต่อไป
ภายหลังทางการเอาบาตรใบนี้ออกขายทอดตลาด
ผมไม่ทราบว่าใครบอกคุณบรรหาร ศิลปอาชา ท่านไปประมูลซื้อมา
ในราคา 6 หมื่น หรือ 8
หมื่นบาท ผมไม่แน่ใจ
แล้วนำบาตรใบนี้กลับมาถวายหลวงพ่อเปลื้องอีกที
บาตรนี้จึงกลับคืนมาสู่วัดสุวรรณภูมิ
เป็นสมบัติของชาวสุพรรณอีกวาระหนึ่ง ผมทราบข่าวแล้วโล่งใจ
ดีใจ และรู้สึกเป็นบุญคุณ ที่คุณบรรหารช่วยปลดเปลื้องออกจากใจผมด้วย
จากหนังสือ
60 ปี บรรหาร ศิลปอาชา 2535
หน้า 44 ตอนคนดีศรีสุพรรณ โดย พัฒน์
บุณยรัตพันธุ์ เขียนให้คุณบรรหาร ศิลปอาชา
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/08/K5744537/K5744537.html
 |