สระศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4

 

 

สระศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4

พระราชพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษก
สำหรับพิธีพลีกรรมตักน้ำ จากสระแก้ว สระคา สระยมนา และสระเกษ สำหรับถวายเป็นน้ำอภิเษก และ สรงน้ำมูรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนี้ จังหวัดสุพรรณบุรีกำหนดพิธีในวันที่ 6 เมษายน 2562 ฤกษ์ 11.52 น. ในวันที่ 8 เมษายน 2562 เป็นพิธีทำน้ำอภิเษกเจริญพุทธมนต์ และวันที่ 9 เมษายน 2562 พิธีเวียนเทียน สมโภชน้ำอภิเษก ณ วิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร โดยนายนิมิต วันไชยธนวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานในพิธี ทั้งนี้ เทศบาลตำบลท่าเสด็จ ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยรอบให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม และพร้อมที่จะนำน้ำจากสระทั้งสี่ ประกอบพิธีสำคัญๆ ได้ตลอดเวลา ซึ่งขณะนี้ มีประชาชนต่างๆ จากทั่วประเทศ ให้ความสนใจเข้าเยี่ยมชมสระศักดิ์สิทธิ์อย่างต่อเนื่อง

สระศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4

สระศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4 (The Four red Ponds)
อยู่ในเขตตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง ริมถนนสายดอนเจดีย์-สุพรรณบุรี ห่างจากตัวเมือง 14 กิโลเมตร น้ำในสระทั้ง 4 นับถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณ เป็นน้ำที่ใช้ใน พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และ พระราชพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษก
   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จมาทอดพระเนตรสระศักดิ์สิทธิ์ที่ตำบลนี้ จึงเป็นเหตุให้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น บ้านท่าเสด็จ ทรงพระราชหัตถเลขาไว้ว่า “…แต่เหตุไฉนที่สระนี้ขลังนักไม่ปรากฏ คงจะมีตัวครูบาที่สำคัญเป็นอันมาก น้ำในสระก็ไม่ใช้ ปลาในสระก็ไม่กิน สระมีหญ้าขึ้นรกเต็มไปหมด มีจระเข้อาศัยอยู่ทั้งสี่สระ…น้ำสระคา สระยมนา ไม่สู้สะอาด มีสีแดง แต่น้ำสระเกษ สระแก้วใสสะอาด…”

สระศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4

พระราชพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษก
น้ำมูรธาภิเษก (น้ำที่จะใช้รดพระเศียรพระเจ้าแผ่นดิน) ที่จะสรงจากสถานที่ต่างๆ อันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในราชอาณาจักรมาทำพิธี ซึ่งเมื่อทรงสรงด้วยน้ำนี้แล้ว ก็ถือว่าได้แปรสภาพองค์เข้าสู่ความเป็น กษัตริย์เป็นขั้นแรก ก่อนจะมีพิธีอื่นๆ ต่อไป

สระศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4

พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา
หรือพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล หมายถึง พระราชพิธีอันเป็น มงคลแห่งความซื่สัตย์ที่ใช้น้ำเป็นเครื่องกำหนด เรียกอย่างย่อว่า พระราชพิธีถือน้ำ เป็นการดื่มน้ำที่แทงด้วยพระแสงราชศัสตรา สาบานตนเพื่อแสดงความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และเพื่อความเจริญก้าวหน้าของตนเอง หากตั้งอยู่ในความสัตย์นั้น นับเป็นพระราชพิธีใหญ่สำคัญสำหรับแผ่นดินสืบมาแต่โบราณที่ไทยรับอิทธิพลมาจากอินเดีย มีการประกอบพระราชพิธีนี้มาตั้งแต่สมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ พระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์ แห่งกรุงศรีอยุธยา ปรากฏหลักฐานในกฎมณเฑียรบาล กฎหมายตราสามดวง เรียกชื่อพระราชพิธีว่า ถวายบังคมถือน้ำพระพัท กำหนดการในเดือน ๑๐ ถือ เป็นพระราชพิธีที่สำคัญในด้านการปกครอง มีการกำหนดโทษข้าราชการที่ไม่มารวมพิธีถือน้ำถึงตาย ยกเว้นผู้ที่เจ็บป่วย และมีข้อห้ามไม่ให้ใส่แหวนนาก แหวนทองร่วมในพิธี ห้ามกินอาหารก่อนเข้าพิธี หากผู้ใดดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาแล้วยื่นต่อให้แก่กันหรือดื่มแล้วเททิ้งโดยไม่ได้เทใส่ผม มีโทษเป็นกบฏ ในการเสกทำน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ให้พระแสงราชศัสตราสำหรับแผ่นดินแทงน้ำประกอบการอ่านประกาศแช่งน้ำโคลงห้า หรือโคลงแช่งน้ำหรือลิลิตโองการแช่งน้ำ อันเป็นวรรณกรรมศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้เกิดความน่าเกรงกลัวหากจะกระทำผิดจากสัตย์สาบานและเกิดศรัทธาที่จะกระทำความดี นับเป็นจิตวิทยาทางการ ปกครอง ที่ควบคุมจิตใจและความประพฤติของข้าราชการให้ตั้งอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดีต่อพระประมุขของชาติ

สระศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4


ตำนานสระศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4
มีตำนานเกี่ยวกับสระศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4 ว่า มีเจ้าผู้ครองนครองค์หนึ่งมีพระราชธิดา 4 พระองค์ทรงพระนามว่า แก้ว คา ยมนา เกศ ทุกพระองค์มีพระสวามีแล้ว แต่องค์สุดท้องคือเกศมีพระสวามีเป็นลิงเผือก ต่อมาเจ้าผู้ครองนครได้สั่งพระราชธิดา และพระราชบุตรเขยว่า ถ้าใครสามารถขุดสระได้ลึกและกว้างที่สุด จะมอบพระขรรค์ศักดิ์สิทธิ์และให้ครองนครต่อไป ดังนั้นทุกคนจึงเริ่มต้นขุดสระ ส่วนน้องเกศน้องคนสุดท้องต้องขุดอยู่คนเดียว อีกทั้งตอนถึงเวลากลางคืน พี่สาวทั้ง 3 และพี่เขยยังเอาดินมาถมสระอีก ครั้นถึงวันสุดท้ายลิงเผือกกับบริวารมาช่วยกันขุดสระพักเดียวก็ได้สระที่กว้างและลึกที่สุดกว่าทุกๆสระ และยังปลูกต้นเกศไว้ตรงกลางสระเป็นเครื่องหมายอีกด้วย ครั้งถึงรุ่งเช้าตามกำหนด เจ้าผู้ครองนครก็สวรรคตพอดี บรรดาเสนาอำมาตย์จึงตั้งกรรมการมาตรวจดูสระทั้งสี่ ปรากฏว่าสระของเกศกว้างใหญ่และลึกที่สุด จึงมองพระขรรค์ให้เกศ ทำให้พี่สาวและพี่เขยไม่พอใจ จึงลักเอาพระขรรค์ศักดิ์สิทธิ์หนีไป ลิงเผือกจึงขี่ม้าติดตามออกไปจนทันที่สระของเกศ เมื่อพี่สาวและพี่เขยเห็นจวนตัวจึงขว้างพระขรรค์ลงไปในสระของเกศ บังเอิญถูกตัดต้นเกศขาดสะบั้นลง และพระขรรค์ก็อันตรธานหายไป น้ำในสระจึงกลายเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สระศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4


ตำบลสระแก้ว และ เทศบาลตำบลท่าเสด็จ
เทศบาลตำบลท่าเสด็จตั้งอยู่ตำบลสระแก้ว อำเภอเมืองสุพรรณบุรี แต่ก่อนมาได้รับการจัดตั้งเป็นสุขาภิบาลท่าเสด็จ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2511 ต่อมาได้รับการยกฐานะจากสุขาภิบาล เป็นเทศบาลตำบล เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 แต่เดิมมาชื่อตำบลมิใช่ “สระแก้ว” แต่เป็น “ท่าว้า” (ชื่อของชุมชนย่านนี้ก็เรียกว่า “บ้านท่าว้า”) ขึ้นกับอำเภอท่าพี่เลี้ยง ต่อมาทางราชการได้เปลี่ยนชื่อตำบลจาก “ท่าว้า” เป็น “สระแก้ว” และเปลี่ยนชื่ออำเภอจาก “ท่าพี่เลี้ยง” เป็น “เมืองสุพรรณบุรี” ซึ่งชื่อหมู่บ้านก็ได้เปลี่ยนจาก“ท่าว้า” เป็น “ท่าเสด็จ” การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว สันนิษฐานได้ว่าสืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้เคยเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พุทธศักราช 2451 และได้เสด็จประพาสมาที่สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ทั้ง 4 ที่ตั้งอยู่ท้องที่บ้านท่าเสด็จ 

http://www.thasadet.com

สระศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4

สระศักดิ์สิทธิ์ (สระแก้ว)
ตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง โทร 035-597303

สระศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4

ค่าพิกัด GPS 14.496371, 100.015746

 


ข้อมูลศึกษาเพิ่มเติมจาก

ชมรมนักโบราณคดี(สมัครเล่น)เมืองสุพรรณ
1 กรกฏาคม 2562

facebook.com/suphanhistory

ความเปลี่ยนแปลงของสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ในรอบ 100 ปี
เก็บตกจากกิจกรรมส่งเสริมความรู้ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อท้องถิ่น ครั้งที่ 2 หัวข้อ "ตำนานสระศักดิ์สิทธิ์ ปริศนาเมืองสุพรรณ" และค้นคว้าเพิ่มเติมในบางประเด็น อาทิ เช่น ตำนานสระศักดิ์สิทธิ์เกิดขึ้นเมื่อใด การสลับชื่อของสระแก้วและสระยมนาเกิดขึ้นได้อย่างไร และ ขนาดและสภาพสัณฐานของสระทั้งสี่ที่ปรากฏในเอกสารต่างๆ โดยเลือกเฉพาะเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้มาสรุปให้อ่านง่ายในแบบไทม์ไลน์ ดังนี้

พ.ศ. 2395 (สมัยรัชกาลที่ 4) มีการร้องเรียนว่า มีสัตว์ ต่างๆ เช่น ช้าง ม้า โค กระบือ เข้าไปลุยน้ำในสระจนขุ่นไม่ใสสะอาด จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุนคงคาขุดลอกสระและจัดทําเขื่อนไม้กันรอบสระ การขุดลอกและทำเขื่อนไม้รอบสระในคราวนี้น่าจะมีการปรับแต่งลักษณะสัณฐานเดิมของสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ไม่มากก็น้อย แต่ก็ไม่ได้บอกว่าลักษณะสัณฐานเดิมและหลังขุดลอกของสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่เป็นอย่างไร แต่การที่สัตว์สามารถเข้าไปลุยน้ำในสระจนน้ำขุ่น แสดงว่าสระอาจไม่ลึกเท่าใดนัก

พ.ศ. 2451 พระราชหัตถเลขาเรื่องเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่าของรัชกาลที่ 5 ร.ศ.127 มีข้อความระบุตำแหน่งและอธิบายลักษณะของสระทั้งสี่ดังนี้ "..ที่สระนั้นมีสัณฐานต่าง ๆ อยู่อย่างไม่เป็นระเบียบ ตรงทางที่ขึ้นไปถึงสระคาก่อน สระยมนาอยู่ข้างเหนือ สระแก้วอยู่ตะวันตกเกือบจะตรงกับสระคา สระเกษอยู่ข้างใต้แนวเดียวกับสระแก้ว แลเห็นปรากฏว่าเป็นสระที่ขุด มีเจดีย์ซึ่งว่ามีพระรูป ๑ ไล่เลียงเอาชื่อไม่ได้ ไปก่อเสริมฐานของเก่าที่สระคาแห่งหนึ่ง สระยมนาแห่งหนึ่ง..." อย่างไรก็ตามในพระราชหัตถเลขาฯไม่ปรากฏเรื่องเล่าตำนานสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่แต่อย่างใด

พ.ศ. 2465 แผนที่มณฑล สมัยรัชกาลที่ 6 จัดทำขึ้นระหว่าง ปี พ.ศ. 2465 ถึง พ.ศ. 2468 ระบุตำแหน่งสระทั้งสี่เหมือนในพระราชหัตถเลขาเรื่องเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่าของรัชกาลที่ 5 ร.ศ.127

พ.ศ. 2471 บทความเรื่อง “สระน้ำสําคัญในจังหวัดสุพรรณบุรี” ลงในหนังสือพิมพ์ศรีกรุงระบุว่า "..เวลานี้ถนนหนทางก็รกเป็นป่า ในสระเต็มไปด้วยต้นอ้อต้นแขมและสวะจนตื้นเขิน จวนเจียนจะหาน้ำมาเข้าพิธีศรีสัจจปานกาลไม่ได้อยู่แล้ว.." จากตรงนี้ทำให้เห็นว่าสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่มีช่วงเวลาที่ตื้นเขินและกลายสภาพเป็นป่า ซึ่งเป็นไปได้ว่าเป็นช่วงที่มีการยกเลิกตำแหน่งขุนคงคากับเลก(แรงงาน)ดูแลสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ไปก่อนหน้านี้นานแล้ว

พ.ศ. 2482 หนังสืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์ 3 จังหวัด พิมพ์โดยกรมโฆษณาการ ระบุว่า สระแก้วเป็นสระสี่เหลี่ยมมีเนื้อที่ประมาณ 900 ตารางเมตร สระคาเป็นสระสี่เหลี่ยมมีเนื้อที่ประมาณ 900 ตารางเมตร สระยมนาเป็นสระสี่เหลี่ยมมีเนื้อที่ประมาณ 900 ตารางเมตร สระเกษเป็นสระสี่เหลี่ยมมีเนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ ในหนังสือเล่มนี้ไม่ปรากฏเรื่องเล่าตำนานสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่เช่นกัน

พ.ศ. 2497 หนังสือเรื่องจังหวัดสุพรรณบุรี เขียนโดย อ.ตรี อมาตยกุล จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตวิศิษฏธรรมธาดา ต.จ. วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2500 ในคำนำระบุว่าเรื่องจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นการตัดตอนมาจากหนังสือเรื่องเมืองทองของไทย ตีพิมพ์ ปี พ.ศ. 2497 เป็นเรื่องนําเที่ยวจังหวัดต่างๆ ของกรมศิลปากร ในหนังสือเล่มนี้ มีการอธิบายเรื่องตำนานเมืองสุพรรณและโบราณสถานหลายแห่งแต่ไม่ปรากฏเรื่องเล่าตำนานสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่เช่นกัน สำหรับตำแหน่งของสระทั้งสี่ในหนังสือเล่มนี้มีที่น่าสังเกตุคือ ถึงแม้จะมีการยกเอาข้อความเรื่องสระศักดิ์สิทธิ์จากพระราชหัตถเลขาเรื่องเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่าของรัชกาลที่ 5 ร.ศ.127 มาเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาก็ตาม แต่การเรียงลำดับรายชื่อสระและขนาดท้ายบทความกลับเป็นดังนี้ สระแก้ว สระคา สระยมนา สระเกษ ซึ่งน่าจะเป็นการเรียงลำดับจากเหนือมาใต้ซึ่งขัดกันกับตำแหน่งของสระต่างๆ ที่ปรากกฏในพระราชหัตถเลขาเรื่องเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่าและแผนที่มณฑล สมัยรัชกาลที่ 6 ที่เรียงลำดับสระต่างๆ ดังนี้ สระยมนา สระคา สระแก้ว สระเกษ ผู้เขียนสันนิษฐานว่าการสลับชื่อสระในคราวนี้เป็นไปได้สองกรณี คือ 1. ชื่อสระทั้งสองถูกสลับป้ายชื่อกันก่อนหน้านี้ 2. อ.ตรี อมาตยกุล อาจจดชื่อสระมาสลับกัน

พ.ศ. 2502 มีการสำรวจและจัดทำแผนผังสระทั้งสี่ โดยกรมศิลปากร ในผังนี้เองพบว่ามีการระบุตำแหน่งสระน้ำจำนวน 6 สระ แต่ระบุชื่อสระเพียงสี่สระและเรียงลำดับตำแหน่งของสระทั้งสี่จากเหนือมาใต้เป็น สระแก้ว สระคา สระยมนา สระเกษ ตามหนังสือเรื่องจังหวัดสุพรรณบุรี ที่กล่าวมาแล้ว

พ.ศ. 2509 หนังสือโบราณวิทยาเรื่องเมืองอู่ทอง ลงบทความของ อ.ตรี อมาตยกุล ที่เขียนในหนังสือเรื่องเมืองทองของไทย และแผนผังสระทั้งสี่ของกรมศิลปากร ที่ทำไว้ปี พ.ศ. 2502

พ.ศ. 25?? ตำนานเกี่ยวกับสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นทีหลังเพราะไม่พบในเอกสารใดๆ ก่อนหน้านี้ และจากการรัชกาลที่ 5 เสด็จมา ณ. สถานที่แห่งนี้ ในพระราชหัตถเลขาฯ มีข้อความว่า "..มีพระรูป ๑ ไล่เลียงเอาชื่อไม่ได้.." การไล่เลียงสอบถามในคราวนั้นคงไม่ได้สอบถามแค่ชื่อพระ ถ้ามีตำนานสระศักดิ์สิทธิ์แล้ว รัชกาลที่ 5 ท่านน่าจะได้รับฟังและบันทึกไว้

สระอมมฤติ 1 และ 2

พ.ศ. 2513 มีการขุดขุดลอกบูรณะโดยกรมศิลปากร และปรากฏชื่อสระเพิ่มอีกสองสระคือ สระอมมฤติ 1 และ 2

พ.ศ. 2518 ภาพถ่ายทางอากาศ ระบุตำแหน่งของสระทั้งสี่เหมือนผังของกรมศิลปากร ปี พ.ศ. 2502

พ.ศ. 2548 กำหนดเขตโบราณสถานสระศักดิ์สิทธิ์ ในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 22 กันยายน 2548 ระบุตำแหน่งของสระทั้งสี่เหมือนผังของกรมศิลปากร ปี พ.ศ. 2502

สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดสุพรรณบุรี

ร้านอาหาร ของกิน จังหวัดสุพรรณบุรี

รีสอร์ท โรงแรม ที่พัก จังหวัดสุพรรณบุรี

สระศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4

 

 

 

 

 

Last modified: 14/07/65

จังหวัดสุพรรณบุรี Suphanburi | สถานที่ท่องเที่ยว | ที่พัก-รีสอร์ท | ร้านอาหาร แผนที่ | การเดินทาง | Other