เสด็จประพาสต้น ครั้งที่ 1

 

 

เสด็จประพาสต้น ร5 ครั้งที่ 1 ปี ร.ศ.123 พ.ศ. 2447

การเสด็จประพาสต้น ครั้งที่ 1
ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)
ในปี พ.ศ. 2447 (ร.ศ.123)

หรือที่เรียกกันว่า “การเสด็จประพาสต้น” เป็นการเสด็จเพื่อทรงพักผ่อนพระราชอิริยาบถตามคำแนะนำของหมอหลวง โดยใช้เรือพลับพลาพ่วงเรือไฟไป ถ้าจะประทับแรมที่ไหนก็จอดเรือพลับพลาประทับแรมที่นั่น ทรงต้องการเสด็จประพาสอย่างเงียบๆ โดยไม่ให้ราษฎรรู้จักพระองค์ จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดกระบวนเรือที่เรียกกันว่า “กระบวนประพาสต้น” คือทรงเรือมาดเก๋งสี่แจวอย่างที่ข้าราชการใช้กันในขณะนั้น มีเรือประทุน 4 แจวเป็นเรือเครื่องครัว พ่วงเรือไฟเล็กไปเพียง 2 ลำ
การเสด็จครั้งนี้ มีพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ตามเสด็จอีกหลายพระองค์ เช่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.6 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฯลฯ

เส้นทางและสถานที่สำคัญในการเสด็จประพาสต้น

การเสด็จประพาสต้น ร.ศ. 123 (พ.ศ. 2447) เป็นการเสด็จทางชลมารคและทางรถไฟเป็นหลัก มีจุดเริ่มต้นจากพระราชวังบางปะอินเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2447 ผ่านจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ ธนบุรี สมุทรสาคร ราชบุรี สมุทรสงคราม เพชรบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา กลับสู่บางปะอิน แล้วเสด็จโดยทางรถไฟกลับสู่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2447


2 สิงหาคม 2447 เสด็จประพาสคลองภาษี แล้วเสด็จมาประทับแรมที่บ้านสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

ตามกำหนดเดิมกะว่าจะเสด็จถึงสองพี่น้องราวเวลาบ่ายสัก 2 โมง จะประพาสบ้านสองพี่น้องและบ้านบางลี่ในเย็นวันนั้น รุ่งขึ้นจะออกกระบวนจากสองพี่น้องแต่เช้าไปประทับแรมที่เมืองสุพรรณทีเดียว แต่เสด็จมาถึงเย็นเวลาไม่พอประพาส จึงต้องกะระยะทางแก้ใหม่ คือวันที่ 3 เช้าจะประพาสบ้านสองพี่น้องต่อ เวลากลางวันจะไปถึงเมืองสุพรรณไม่ได้ จะต้องจัดที่ประทับแรมกลางทางระหว่างสองพี่น้องกับเมืองสุพรรณอีกแห่งหนึ่ง รับสั่งให้กรมหลวงดำรงเสด็จไปเลือกและจัดที่สำหรับประทับแรม ฉันถูกมีหน้าที่ไปตามเสด็จกรมหลวงดำรง จึงได้ออกเรือล่วงหน้ามาแต่เช้ามืด กรมหลวงดำรงทรงเลือกเห็นที่วัดบางบัวทองเป็นที่สมควรดี ตกลงจะให้จัดที่ประทับแรมที่หน้าวัดนั้น

ฉันออกนึกหนักใจว่าเวลามีเพียงราว 8 ชั่วโมง ไม้ไล่ผู้คนและเครื่องมือก็ไม่มี จะทำอย่างไรจึงจะมีที่ประทับทันเสด็จ ฉันทูลถามกรมหลวงดำรง ท่านรับสั่งว่ามีมากันเท่านี้ก็ลองดูว่าจะทำได้อย่างไร มีรับสั่งให้เรียกประชุมอำเภอกำนันผู้ใหญ่บ้านพร้อมกัน แล้วรับสั่งว่า วันนี้เจ้านายของพวกเราจะเสด็จมาประทับแรมที่ตรงนี้ เราต้องช่วยกันแผ้วถางและทำสะพานที่จะจอดเรือพระที่นั่งให้ทันเสด็จ พวกแกและชาวบ้านแถวนี้ยังไม่ได้เคยรับเสด็จเลย และที่ยังไม่ได้เคยเห็นเจ้านายของพวกแกเองก็จะมีเป็นอันมาก ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านไปเที่ยวป่าวร้องราษฎรในแถวนี้มาช่วยกันรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัว มีมีดพร้าเครื่องมือให้เอามาด้วย ช่วยกันทำรับเสด็จสักทีจะได้หรือไม่ พวกกำนันผู้ใหญ่บ้านพากันรับอาสาแข็งแรง ต่างคนต่างติดตามเรียกลูกบ้าน และหาไม้ไล่มาทำการตามรับสั่ง ใน 2 ชั่วโมงมีคนมาช่วยทำงานสักสามสี่ร้อย ดูเต็มใจแข็งข้อที่จะทำการรับเสด็จด้วยกันทุกคน แม้แต่พวกผู้หญิงที่ไม่ได้ถูกขอแรงทำงาน ก็พากันมารับอาสาตั้งเตาหุงข้าวทำครัวเลี้ยงคนงาน ประเดี๋ยวมีคนเอาข้าวมาให้ ประเดี๋ยวมีใครเอาปลามาเติม ตลอดลงไปจนผักหญ้า หมากบุหรี่ ก็มีผู้เอามาช่วย กรมหลวงดำรงจะขอใช้เงินค่าเสบียงอาหารให้ก็ไม่มีใครยอมรับ ว่าอยากจะช่วยกันรับเสด็จ พอบ่าย 4 โมงการแล้วเสร็จ เลี้ยงกันเอิกเกริกสนุกสนานราวกับงานไหว้พระอย่างใหญ่ ใครได้เห็นแล้วก็ต้องยินดีด้วยเห็นได้ว่า ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมีความสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าอยู่หัวเพียงใด

ส่วนข้างทางที่เสด็จนั้น ได้ยินว่าเสด็จไปประพาสข้างปลายคลองสองพี่น้อง จะประพาสที่ใดบ้างหาทราบไม่ ได้ความว่านายวงศ์ตะวันไปถูกหมากัด ประพาสคลองสองพี่น้องแล้วเสด็จมาพักทำครัวเย็นที่วัดบางสาม เมื่อทำครัวอยู่นั้นพวกเราใครตกเบ็ดได้ปลาเทโพตัว 1 ทราบว่าแกงเทโพนั้นอร่อยนัก แต่นายอัษฎาวุธเคราะห์ร้ายไปตกล่องที่วัดบางสามฟกช้ำไปหน่อยหนึ่ง เสด็จมาถึงที่ประทับวัดบางบัวทองเวลาประมาณสัก 2 ทุ่ม


เสด็จประพาสต้น ร5 ครั้งที่ 1 ปี ร.ศ.123 พ.ศ. 2447
วัดบางสาม ตำบล บางตะเคียน อำเภอ สองพี่น้อง จังหวัด สุพรรณบุรี 72110

เสด็จประพาสต้น ร5 ครั้งที่ 1 ปี ร.ศ.123 พ.ศ. 2447
วัดรางบัวทอง (วัดบางบัวทอง)

3 สิงหาคม 2447 เสด็จประพาสบ้านสองพี่น้อง เสวยพระกระยาหารเย็นที่ วัดบางสาม ประทับแรมหน้าวัดบางบัวทอง (ปัจจุบันคือวัดรางบัวทอง) จังหวัดสุพรรณบุรี ได้พระราชทานพระบรมฉายาทิสลักษณ์แก่วัดรางบัวทองเป็นราชานุสรณ์ด้วย เดิมพระบรมฉายาทิสลักษณ์อยู่ในวิหารเก่า แต่ปัจจุบันพระบรมฉายาทิสลักษณ์นั้นอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์นัก จึงได้นำมาเก็บรักษาไว้


เสด็จประพาสต้น ร5 ครั้งที่ 1 ปี ร.ศ.123 พ.ศ. 2447
 บ้านสุขุมาราม (บ้านยะมะรัชโช)

เสด็จประพาสต้น ร5 ครั้งที่ 1 ปี ร.ศ.123 พ.ศ. 2447
วัดแค

4 สิงหาคม 2447 เสด็จโดยกระบวนเรือไฟ ผ่านบางปลาม้า แล้วเสด็จต่อโดยเรือแจวไปถึงเมืองสุพรรณบุรี จอดเรือพระที่นั่งประทับที่สุขุมาราม (บ้านยะมะรัชโช)

..............................

ชื่อสุขุมารามที่เรียกกัน เรียกตามได้ยินรับสั่ง เห็นจะเป็นชื่อพระราชทาน ไม่ได้ยินพวกชาวสุพรรณเขาเรียก ความจริงนั้นที่ตรงนั้นเป็นบ้านเดิมของเจ้าคุณสุขุม ญาติวงศ์ของท่านยังอยู่หลายคน ได้พากันมารับเสด็จเฝ้าแทน ดูทรงพระกรุณามาก แต่คำว่าอารามๆ เคยได้ยินเป็นชื่อวัด นี่ทำไมจึงเอามาพระราชทานต่อท้ายชื่อบ้านเจ้าคุณ ข้อนี้ฉันตรองไม่เห็น

เสด็จเมืองสุพรรณคราวนี้เป็นที่น่าเสียดายอยู่อย่างหนึ่ง ด้วยไม่ถูกฤดูเหมาะ ในเวลานี้น้ำแม่น้ำยังน้อยจะไปเที่ยวทางเรือก็ขัดข้อง ส่วนทางบกฝนก็ตกพอแผ่นดินเป็นหล่มเป็นโคลน จะไปไหนก็ยาก เพราะฉะนั้นจึงเสด็จประพาสได้ใกล้ๆในบริเวณเมือง

..................................

แล้วเสด็จประพาสข้างเหนือน้ำ เสวยพระกระยาหารค่ำที่ วัดแค ประทับแรมที่เมืองสุพรรณ

มีเรื่องเล่าไว้ในหนังสือประวัติวัดที่เขียนขึ้นจากคำบอกเล่าสืบกันมาว่า ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาประทับเสวยที่วัดแคนั้น ขรัวตากัน ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 3 ของวัด ทราบแว่วๆ มาว่าพระพุทธเจ้าหลวงจะเสด็จประพาสจังหวัดสุพรรณบุรี แต่ไม่ทราบหมายกำหนดการที่แน่นอน จึงสั่งการให้ปัดกวาดลานวัด จัดที่ประทับไว้บนกุฏิและทำซุ้มรับเสด็จที่ศาลาท่าน้ำด้วย แต่คอยแล้วคอยเล่าก็ไม่เห็นพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จมา มีเพียงชาย 3 คนที่บอกว่าตนเป็นมหาดเล็กมาบอกข่าวแต่แรกเท่านั้นที่นั่งคุยกับขรัวตากัน พร้อมทั้งรับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อย และกลับไป

พอวันรุ่งขึ้น มหาดเล็กกลับมาหาขรัวตากันอีกครั้งเพื่อร่ำลา คราวนี้ขรัวตากันรู้สึกเอะใจ และนึกขึ้นได้ จึงรีบให้เด็กวัดเคาะระฆังเรียกพระมารวมกันที่ศาลาการเปรียญ แล้วสวดถวายพระพรส่งเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงที่มาในนามของมหาดเล็กนั่นเอง หลังจากนั้นราว 4-5 เดือน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็โปรดให้ขรัวตากันเข้าเฝ้าที่กรุงเทพฯ เพื่อทรงสนทนาปราศัย พร้อมถวายเครื่องไทยทานหลายอย่าง เช่น ขันทองเหลือง ผ้าไตร ปิ่นโต ผ้าสังฆาฏิ ปักอักษรย่อ “จปร.” ตู้ใส่หนังสือ
(ดูเพิ่มเติม)


เสด็จประพาสต้น ร5 ครั้งที่ 1 ปี ร.ศ.123 พ.ศ. 2447
วัดบางยี่หน

5 สิงหาคม 2447 เสด็จทอดพระเนตรที่ว่าการเมืองสุพรรณบุรี วัดมหาธาตุ หลักเมือง และวัดป่าเลไลยก์ แล้วเสด็จโดยทางเรือล่องมาประทับแรมที่บางปลาม้า ทรงเรือพระที่นั่งเล็กประพาสทางใต้ ประทับเสวยพระกระยาหารค่ำที่วัดบางยี่หน

ตามประวัติกล่าวว่า วัดบางยี่หน ตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2350 เดิมชื่อ วัดบางชีหน ประมาณปี พ.ศ.2420 ได้เปลี่ยนแปลงชื่อวัดเป็น “วัดบางยี่หน” พระอุโบสถ สร้างเมื่อปี พ.ศ.2524 มีพระประธานในโบสถ์เป็นพระปางสะดุ้งมาร ศิลปะสุโขทัย สร้างเมื่อปี พ.ศ.2420
นอกจากนี้ ยังมีหอสวดมนต์ กุฏิสงฆ์ วิหาร สร้างเมื่อปี พ.ศ.2450 ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ยาว ๗ วา ๒ ศอก สร้างเมื่อปี พ.ศ.2456 และวิหารหลวงพ่อขาว ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ ปัจจุบัน วัดบางยี่หน ตั้งอยู่ที่ ต.ตะค่า อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี


6 สิงหาคม 2447 เสด็จโดยกระบวนเรือใหญ่ เข้าคลองบางปลาม้า คลองจระเข้ใหญ่ ถึงบ้านผักไห่ ประทับแรมที่บ้านหลวงวารี ทรงเรือเมล์ของหลวงวารีประพาสข้างเหนือน้ำ

.............................

ตั้งแต่เสด็จประพาสต้นคราว ร.ศ.123 แล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงยังเสด็จประพาสทำนองเดียวกันอีกหลายคราว บางทีเสด็จประพาสในจังหวัดกรุงเทพฯนี้เองบ้าง ประพาสตามมณฑลหัวเมืองบ้าง ครั้งหนึ่งใน ร.ศ.124 เสด็จขึ้นไปประพาสเมืองสระบุรี แล้วขึ้นมาทางลำแม่น้ำใหญ่ไปจนถึงเมืองกำแพงเพชร คราวนี้สนุกพอใช้ แต่พ่อประดิษฐ์ออกไปอยู่เสียหัวเมือง ฉันจึงไม่ได้จดหมายรายการบอกไปให้ทราบ อีกคราวหนึ่งใน ร.ศ.127 เสด็จประพาสเมืองนครสวรรค์ ขากลับล่องลงทางคลองมะขามเฒ่า มาเมืองสุพรรณบุรี บ้านผักไห่ อ่างทอง แล้วเสด็จกลับทางบางแล้วเข้ากรุงเก่า อีกคราวหนึ่งในศกเดียวกันนั้นเสด็จทางคลองรังสิตไปประพาสถึงเมืองปราจีน แล้วกลับออกทะเลมาเข้าปากน้ำเจ้าพระยา

แต่ประพาสคราวหลังๆนี้ ความขบขันน้อยไปกว่าคราวแรกๆ ด้วยเหตุ 2 ประการ คือราษฎรรู้เสียมากว่าพระเจ้าอยู่หัวโปรดเสด็จอย่างคนสามัญ ถ้าเห็นใครแปลกหน้าเป็นผู้ดีชาวบางกอก ก็ชวนจะเข้าใจไปเสียว่าพระเจ้าอยู่หัว บางทีมหาดเล็กเด็กชาพากันไปเที่ยว ไปถูกราษฎรรับเสด็จเป็นพระเจ้าอยู่หัวก็มี เพราะฉะนั้นในตอนหลังจะหาใครไม่รู้จักพระองค์สนิทอย่างนายช้าง ยายพลับ ไม่มีอีก อีกประการหนึ่งตั้งแต่เสด็จกลับจากยุโรปคราวหลัง มีเรือยนตร์เข้ามาใช้ในกระบวนเสด็จ ประพาสด้วยเรือยนต์เสียโดยมาก เมื่อเสด็จประพาสด้วยเรือยนต์แล้วก็ต้องเป็นอันรู้ว่าพระเจ้าอยู่หัวอยู่เอง จึงไม่ใคร่มีเรื่องขบขันอย่างคราวแรก

นายทรงอานุภาพ
(กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

http://www.thongthaem.org

 


แผนที่ เสด็จประพาสต้น ร5 ครั้งที่ 1 ปี ร.ศ.123 พ.ศ. 2447

การเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๑ ร.ศ. ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗)

จดหมายฉบับที่ ๑ เขียนที่บางปะอิน วันที่ ๑๒ เดือนกรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗)
เล่าเหตุที่จะเสด็จประพาสต้น คือ ในการเสด็จบางปะอินคราวนี้ เพราะเหตุที่ทรงไม่สบาย แพทย์เห็นว่าควรรักษาพระองค์ให้สบายดังเก่าได้โดยเร็ว เจ้านายผู้ใหญ่ที่มาตามเสด็จจึงพร้อมกันกราบบังคมทูลขอให้ระงับพระราชธุระ และเสด็จประพาสตามคำแนะนำของแพทย์ ทรงดำริเห็นชอบด้วย จึงเสด็จประพาสตามลำน้ำด้วยกระบวนเรือปิกนิก (Picnic) พ่วงเรือไฟไปจากบางปะอิน การเสด็จครั้งนี้ห้ามมิให้รับเสด็จตามทางราชการ เป็นการเสด็จอย่างเงียบๆ แล้วแต่พอพระราชหฤทัยจะเสด็จที่ใด หรือประทับที่ใดตามพระราชประสงค์

จดหมายฉบับที่ ๒ เขียนที่วัดโชติทายการาม คลองดำเนินสะดวก วันที่ ๑๖ เดือน กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓
เล่าเรื่องจากเสด็จบางปะอิน เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ ล่องลงมาตามลำน้ำเจ้าพระยาเสด็จประทับวัดปรมัยยิกาวาสครู่หนึ่ง แล้วเลยเสด็จประพาสสวนสะท้อนของนายบุตร ที่แม่น้ำอ้อมแขวงเมืองนนทบุรี มีสะท้อนดีกำลังออกผล เจ้าของสวนเชิญเสด็จเก็บสะท้อน ทรงพอพระราชหฤทัยและทรงกรุณาแก่เจ้าของสวนมาก เสด็จประทับแรมวัดเขมา วันที่ ๑๕ เวลาเช้า กระบวนล่องลงมาเข้าคลองบางกอกใหญ่และคลองภาษีเจริญ ประทับแรมหน้าวัดหนองแขม จวบจนรุ่งเช้าวันที่ ๑๖ กระบวนเสด็จจากหน้าวัดหนองแขมมาที่ปากคลองดำเนินสะดวก เวลา ๔ โมงเช้า พอบ่าย ๓ โมงถึงหลักหก หยุดกระบวนประทับแรมที่หน้าวัดโชติทายการาม เวลาบ่าย ทรงเรือเล็กพายประพาสทุ่ง คือไร่ที่มีน้ำท่วม เจ้าของไร่กำลังเก็บหอม กระเทียมขึ้นผึ่งตามชานเรือน ตลอดจนบนหลังคา เจ้าของเรือน คือยายผึ้ง เชื้อเชิญเสด็จขึ้นเรือน ต้อนรับโดยเลี้ยงสำรับกับข้าวพระเจ้าอยู่หัว เจ๊กฮวด ลูกยายผึ้งจำพระเจ้าอยู่หัวได้ จึงปูผ้ากราบ พระองค์ทรงพระราชทานหลายสิบเท่าราคาสำรับกับข้าวที่ยายผึ้งเลี้ยง

จดหมายฉบับที่ ๓ เขียนที่เมืองราชบุรี วันที่ ๒๐ เดือนกรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓
วันที่ ๑๗ เดือนกรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เล่าเรื่องเสด็จจากวัดโชติกายารามเมืองราชบุรีเวลาเช้า กระบวนเสด็จถึงราชบุรีเวลาเที่ยง จอดเรือพระที่นั่งที่บ้านเทศา เสด็จรถไฟพิเศษแล่นลงไปข้างใต้เมืองเพชรบุรีทรงพระดำเนินไปตามถนนเป็นเวลานาน ประทับเสวยที่เมืองเพชร แล้วจึงกลับมาประทับแรมที่เมืองราชบุรี

วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เวลาเช้าเสด็จประพาสตลาด เสด็จทอดพระเนตรแห่บวชนาค บุตรพระแสนท้องฟ้าที่วัดสัตนาถ เวลาบ่ายทรงเรือมาด ๔ แจว มีพระราชประสงค์จะซื้อเรือ ๔ แจว สำหรับตามเรือมาดพระที่นั่ง จนไปถึงวัดเพลง ซื้อเรือมาดพระราชทานชื่อว่า เรือต้น เสด็จกลับถึงเมืองราชบุรีเวลายามหนึ่ง แล้วเริ่มเรียกประพาสนี้ว่า ประพาสต้น เป็นมูลเหตุที่เรียกการประพาสไปรเวตคราวหลังว่าประพาสต้นต่อมา

วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เสด็จเรือมาดแจวประพาสทุ่งทางฝั่งตะวันออก

วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เสด็จอาศัยรถไฟที่จะไปกรุงเทพฯ คำว่า เสด็จ-อาศัย คือ เสด็จรถไฟชั้น ๓ ปะปนกับราษฎร เพื่อจะใคร่ทรงทราบว่าราษฎรอาศัยไปมากันอย่างไร เสด็จลงรถไฟไปประพาสที่โพธาราม เสวยเย็นเวลาสองทุ่ม จากนั้นจึงล่องเรือจากโพธาราม เมียเจ้าของเรือจำพระองค์ได้ ถึงเมืองราชบุรีเวลา ๔ ทุ่ม แล้วประทับแรมที่เมืองราชบุรี

จดหมายฉบับที่ ๔ เขียนที่เมืองสมุทรสงคราม วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เวลาเช้า เสด็จประพาสตลาด พบเจ้าของเรือพาลูกมาเฝ้าฯ
ทรงพระกรุณาพระราชทานเครื่องแต่งตัวแก่เด็ก ออกเรือพระที่นั่งจากเมืองราชบุรีทางแม่น้ำอ้อม เสด็จแวะซื้อเสบียงอาหารที่ปากคลองวัดประดู่ ทอดพระเนตรละคอนชาตรีบ้านตาหมอสี เสด็จแวะทำครัวที่บ้านนายอำเภอ เสด็จกลับมาถึงเวลายามหนึ่ง ประทับแรมเมืองสมุทรสงคราม

วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เสด็จทอดพระเนตรวัดพวงมาลัย ประพาสคลองอัมพวา ทรงเสด็จเรือต้นแยกไปประพาสเพียงลำเดียว ปล่อยเรือพระที่นั่งมาดไว้กับเจ้านายที่ตามเสด็จ ทรงไปพักเสวยเช้าที่วัดดาวดึงส์ แจวต่อไปบางน้อย ประพาสที่บ้านกำนันจัน แล้วกลับมาทางแม่กลอง ถึงที่ประทับเวลาสองทุ่ม

วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เวลาเช้า เสด็จทอดพระเนตรที่ว่าการเมืองแล้วเสด็จวัดอัมพวัน กลับมาถึงที่ประทับเวลาค่ำ

จดหมายฉบับที่ ๕ เขียนที่เมืองเพชรบุรี วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓
วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เวลาเช้า เสด็จประทับเรือฉลอมไปทอดพระเนตรละมุที่ปากอ่าวแม่กลอง ทรงซื้อกุ้ง ปลา ที่เขาจับได้ตามละมุแล้วต้มข้าวต้มสามกษัตริย์ขึ้นในเรือฉลอม คือใช้ปลาทู กุ้ง กับปลาหมึกสด เป็นของทรงประดิษฐ์และเสวยในเช้าวันนั้น จากนั้นเสด็จเลยไปถึงปากน้ำเมืองเพชรบุรีเสด็จเรือกลไฟไปประทับแรมที่จวนเจ้าพระยาสุรพันธ์ ประทับที่เมืองเพชรบุรี

วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เสด็จประพาสทางเหนือน้ำทางชลมารค

วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เสด็จประทับบางทะลุและประทับแรมที่นั้น

วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เสด็จเรือฉลอมแล่นใบจากบางทะลุทางทะเลมาเข้าบ้านแหลม กลับถึงเพชรบุรี ๑ ทุ่มและประทับแรม

วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เสด็จประพาสพระนครคีรี ถวายพุ่มพระสงฆ์เข้าพรรษา

วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เสด็จประพาสวัดต่างๆ เมืองเพชรบุรี ตอนบ่ายกระบวนเรือใหญ่ล่องลงไปประทับแรมที่บ้านแหลม

จดหมายฉบับที่ ๖ เขียนที่บ้านผักไห่ วันที่ ๖ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๓ วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เสด็จมาถึงท่าจีน

วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ เวลาเช้าเสด็จกระบวนต้นจากเมืองสมุทรสาครไปจอดที่บ้านงิ้วราย แขวงเมืองนครไชยศรี เสด็จแวะทำครัวที่วัดตีนท่า กลางคืนได้ออกเรือแจวตามน้ำใกล้ บ้านท่านา พ่วงเรือไฟจนถึงพลับพลา ประทับแรม ๕ ทุ่ม

วันที่ ๑ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๓ เสด็จรถไฟไปประพาสพระปฐมเจดีย์ ทำครัวเช้าที่ลานพระ แล้วลงเรือล่องมาที่ท่าพระประโทน แล้วประทับทำครัวที่บ้านพระยาเวียงไนยที่บ้านธรรมศาลา เสด็จกลับมาทางเรือถึงบ้านงิ้วราย ประทับแรมที่บ้านงิ้วราย เวลา ๒ ทุ่ม

วันที่ ๒ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๓ เสด็จประพาสคลองภาษี ประทับแรมที่บ้านสองพี่น้อง

วันที่ ๓ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๓ ประพาสคลองสองพี่น้อง แล้วเสด็จมาประทับทำ ครัวเย็นที่วัดบางสาม เสด็จถึงที่ประทับวัดบางบัวทอง เวลา ๒ ทุ่ม

วันที่ ๔ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๓ เวลาเช้า กระบวนเรือผ่านบางปลาม้า จอดเรือพระที่นั่งประทับที่สุขุมาราม ประพาสเหนือน้ำ ประทับเสวยที่วัดแค

วันที่ ๕ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๓ เสด็จทอดพระเนตรที่ว่าการเมืองวัดมหาธาตุ หลักเมือง และวัดป่าเลไลยก์ เวลาบ่ายกระบวนเรือล่องมาประทับแรมที่บางปลาม้า ในระหว่างบ่ายนั้น ทรงเรือพระที่นั่งเล็ก ล่องมาประพาสข้างใต้ ประทับเสวยเย็นที่วัดบางยี่หน

วันที่ ๖ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๓ เวลาเช้าออกเรือเสด็จในกระบวนเรือใหญ่ เรือไฟจูงเข้าคลองบางปลาม้า มาทางคลองจระเข้ใหญ่ เวลากลางวันที่บ้านผักไห่ จอดเรือประทับแรมที่บ้านของหลวงวารี เวลาบ่ายทรงเรือเมล์ของหลวงวารี ขึ้นไปประพาสที่บ้านเหนือน้ำ เสด็จกลับมาถึงพลับพลาแรม ๒ ทุ่ม การเสด็จคราวนี้พระเจ้าอยู่หัวทรงสบาย หายประชวรเป็นปกติ

จดหมายฉบับที่ ๗ เขียนที่บ้านเจริญกรุง กรุงเทพฯ วันที่ ๑๐ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๓ เสด็จจากผักไห่ ทรงเสด็จกระบวนต้นขึ้นแยกไปทางคลองบางโผงเผง เข้าคลองกุ่ม ไปออกทางคลองภูเขาทอง ล่องมาจนจบกระบวนเรือใหญ่ หาที่ทำครัวพบบ้านกำนันที่คลองบางหลวงอ้ายเอียง นายช้าง อำแดงพลับพ่อตาแม่ยาย จึงพระราชทานกระดาษธนบัตรซองหนึ่ง เสด็จถึงบางปะอิน เวลาบ่าย ๕ โมงทรงรถไฟพิเศษเสด็จกลับกรุงเทพฯ

จดหมายฉบับที่ ๘ เขียนที่บ้านเจริญกรุง กรุงเทพฯ วันที่ ๒๓ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๓เหตุที่พรรณนาถึงผลการเสด็จประพาสต้น


ล่องเรือตามรอยเสด็จประพาสต้น ร. 5
ย้อนรอยกวีเอกของโลกท่านสุนทรภู่

ล่องเรือตามรอยเสด็จประพาสต้น ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2447 (ร.ศ. 123) แวะไหว้พระ วัดบางยี่หน วัดที่รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ทรงแวะประทับเสวยพระกระยาหาร ภายในวัดยังปรากฎสิ่งของพระราชทานอีกหลายชิ้น ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้พระราชทานไว้ให้แก่วัด ได้แก่ ปิ่นโต และเรือโบราณ ปิดท้ายโครงการด้วยการแวะไหว้พระ วัดแก้วตะเคียนทอง (ร5 ทรงแวะ ประทับเสวยพระกระยาหาร ครั้งเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า ปี ร.ศ.127 พ.ศ. 2451 และวัดศุขเกษม วัดที่มีชื่อเป็นมงคลแก่ชีวิต หมายถึง ทำให้ชีวิตมีความสุขเกษมเปรมปรีตลอดไป ด้วยการสักการะหลวงพ่อโต ปางป่าเลย์ไลก์ ในอุโบสถ และเป็นเส้นทางที่ท่านสุนทรภู่กวีเอก ใช้ล่องเรือเพื่อหาแร่ธาตุชนิดหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2374 ท่านได้แต่งโคลง นิราศสุพรรณ ณ ลำน้ำแห่งนี้

โปรแกรมล่องเรือตามรอยประพาสต้น ร.ศ. ๑๒๓

หลงรักประเทศไทย หลงใหลบางปลาม้า สุพรรณบุรี
ล่องเรือตามรอยประพาสต้น ร.ศ. ๑๒๓ พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕
ย้อนรอยกวีเอกของโลกสุนทรภู่

ค่าบริการ ท่านละ 99 บาท
ติดต่อจองล่วงหน้าได้ที่ โทร
080-073-7397

กำหนดการ
วันละสองรอบ รอบแรกเวลา 10.00น ถึง 12.00 น
รอบที่สองเวลา 13.00น ถึง 15.00 น

สถานที่แวะชม
วัดแก้วตะเคียนทอง ( วัดตะค่า ) ชมเรือ / ตาลบัตร / บาตร และเยี่ยมชมวิหาร ที่พระพุธทเจ้าหลวงทรงสมทบเงินบูรณะ 80 บาท เมื่อ ร.ศ. 124

เงื่อนไข
1.จัดเฉพาะวันจันทร์ถึงวันพฤหัส หรือวันที่ไม่ตรงกับวันหยุดราชการเท่านั้น
2. จำนวนนักท่องเที่ยวกำหนดรอบหนึ่งไม่ต่ำกว่า 15 ท่าน หรือไม่เกิน 30 ท่านต่อรอบ
3. จองล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน ไม่รวมค่าประกันทางน้ำ ท่านละ 50 บาท
 

บริหารงานโดย กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนตำบลบ้านแหลม
บริการเรือโดย บ้านสวนแผ่นดินแม่ วิถีไทยกับสายน้ำ เลขที่ใบอนุญาต 13/02258
สอบถามเพิ่มเติม ที่
080-073-7397 / 035-424-018
นายโสภณ พันธุ ประธานกลุ่มท่องเที่ยวชุมชน ไอดีไลน์ sophol23
หรืออีเมล์ sophol.boy@gmail.com

ค่าพิกัด GPS 14.341384,100.148414

 


เสด็จประพาสต้น ร5 ครั้งที่ 1 ปี ร.ศ.123 พ.ศ. 2447

เสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า ร.ศ.127 พ.ศ. 2451

 

สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดสุพรรณบุรี

ร้านอาหาร ของกิน จังหวัดสุพรรณบุรี

รีสอร์ท โรงแรม ที่พัก จังหวัดสุพรรณบุรี

home suphanbiz

 

เสด็จประพาสต้น ครั้งที่ 1 ปี ร.ศ.123 พ.ศ. 2447
(14 กรกฎาคม-7 สิงหาคม พ.ศ. 2447)
http://www.thongthaem.org
http://www.dhammajak.net
http://topicstock.pantip.com

เสด็จประพาสต้น ครั้งที่ 2 ปี ร.ศ.125 พ.ศ. 2449
(27 กรกฎาคม-29 สิงหาคม พ.ศ. 2447)
http://www.sujitwongthes.com

เสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า ร.ศ.127 พ.ศ. 2451
(15-28 ตุลาคม 2451)
http://www.suphan.biz

เสด็จโดยทางรถไฟจนถึงเมืองนครสวรรค์ ขากลับล่องลงทางคลองมะขามเฒ่า (แม่น้ำท่าจีน) มาเมืองสุพรรณบุรี บ้านผักไห่ อ่างทอง แล้วเสด็จเข้าทางบางแก้ว เข้ากรุงเก่า ทรงบันทึกไว้ในพระราชหัตถเลขา เรื่องเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า เมื่อ พ.ศ.2451

สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดสุพรรณบุรี ร้านอาหาร ของกิน จังหวัดสุพรรณบุรี รีสอร์ท โรงแรม ที่พัก จังหวัดสุพรรณบุรีhome suphanbiz

Last modified: 02/07/20

จังหวัดสุพรรณบุรี Suphanburi | สถานที่ท่องเที่ยว | ที่พัก-รีสอร์ท | ร้านอาหาร แผนที่ | การเดินทาง | Other